ตับและโรคตับอักเสบ
ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น การสร้างน้ำดี ช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน เก็บสำรองอาหาร โดยการเก็บ glucose ไปสะสมไว้ในเซลล์ตับ ในรูปของ glucogen และเมื่อร่างกายต้องการใช้ ก็จะทำการเปลี่ยน glucogen มาเป็น glucose ตับเป็นแหล่งสะสมวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินเอ ดี และบี12 และยังทำหน้าที่ขจัดสารพิษที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
ตับยังทำหน้าที่สร้าง วิตามินเอ จากสารแคโรทีน ซึ่งมีสะสมอยู่ในพวกแครอทและมะละกอ สร้างธาตุเหล็ก ทองแดง และยังสร้างสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กินและทำลายเชื้อโรค และเป็นแหล่งให้พลังงานความร้อนแก่ร่างกาย
จะเห็นได้ว่าตับทำหน้าที่สำคัญมากมายให้แก่ร่างกายเรา ฉะนั้นหากเซลล์ตับถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพไป ก็จะมีผลเสียแก่สุขภาพของเรา เราจึงควรหมั่นตรวจสอบสมรรถภาพของตับอย่างสม่ำเสมอ
การทดสอบสมรรถภาพของตับ ทำได้โดยทดสอบทางห้องชันสูตร แตผลการทดสอบไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ตับปกติดีร้อยเปอร์เซนต์ หรือเสื่อมสภาพไป แต่การทดสอบสามารถบ่งชี้ถึงความเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ก็มีประโยชน์ในการแยกประเภทของโรค การติดตามการดำเนินของโรค และการติดตามผลการรักษาโรค
โรคตับอักเสบ หมายถึง โรคที่เซลล์ของตับมีการอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้สารพิษ หรือการติดเชื้อจุลชีพ หรือติดเชื้อไวรัส ปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากไวรัส ตับจะบวมโต ผู่ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นบริเวณตับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย บางรายมีไข้ต่ำๆ คลื่นใส้ และอาเจียน บางรายตัวเหลื่อง ตาเหลือง
โรคตับอักเสบ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง อาการของผู่ป่วยจะคล้ายคลึงกัน ต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อดูอาการของตับ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ทราบถึงตัวเชื้อต้นเหตุ และเป็นแนวทางในการดูแลป้องกันและรักษาผู้ป่วย
โรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัสต่างชนิดกัน จะมีความรุนแรงและการรักษาต่างกันไปที่พบบ่อยเกิดจากเชื้อ
1. ตับอักเสบ เอ
2. ตับอักเสบ บี
3. ตับอักเสบ ซี
4. ตับอักเสบ ดี
5. ตับอักเสบ อี
-------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
เป็นโรคตับจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี
คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นโรคตับมักจะถามแพทย์เสมอ นอกจากทานยาตามที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอแล้ว ความจริงคำว่าโรคตับมีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจจะหมายถึงผู้ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี ซึ่งสภาพตับโดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากคนปกติทั่วไปเท่าไรนัก ไปจนถึงผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง ซึ่งอาจจะมีอาการดีซ่าน บวม หรือท้องมานก็ได้ ซึ่งหมายถึงมีการเสื่อมสภาพของตับไปมาก สำหรับผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง คงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคตับเหล่านี้พอจะแบ่งออกได้เป็นหัวข้อสำคัญๆ 6 อ. คือ
1. อาหาร
สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นพาหะของเชื้อไวรัสบี ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเฉียบพลัน การรับประทานน้ำหวานมาก ๆ ไม่มีรายงานว่าทำให้การดำเนินของโรคดีขึ้นกว่าการไม่ได้รับประทานน้ำหวาน อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถบริโภคอาหารได้ เนื่องจากมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ในกรณีเช่นนี้การรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรทพวกแป้ง และน้ำตาล เป็นหลักจะทำให้ย่อยอาหารได้ง่าย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง สำหรับผู้ป่วย ซึ่งเริ่มมีอาการตับแข็งแล้ว อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารที่มีรสเค็มจัด เนื่องจากการรับประทานอาหารเค็มสามารถทำให้อาการบวม หรืออาการท้องมานเลวลงได้ โดยทั่วไปแล้วในผู้ป่วยที่มีอาการบวม หรือท้องมาน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณเศษหนึ่งส่วนสามช้อนชาต่อวันเท่านั้น ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งควรรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงขึ้นใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารที่เก็บค้างคืน หรืออาหารที่ประกอบขึ้นสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น การลวก การย่าง เพราะบ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้ป่วยโรคตับแข็งมาพบแพทย์ด้วยอาการติดเชื้อจากทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งบางครั้งสามารถเป็นรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยตับแข็งที่ไม่มีอาการซึม หรืออาการทางสมอง สามารถรับประทานโปรตีนได้ตามปกติเหมือนกับคนปกติทั่วไป ผู้ที่มีอาการทางสมองร่วมกับภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยเหล่านี้ควรจำกัดปริมาณโปรตีนที่ได้จากสัตว์ อย่างไรก็ตามสามารถเสริมโปรตีนได้ในรูปของโปรตีนได้ในรูปของโปรตีนจากพืช หรือถั่ว เป็นต้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เป็นผัก และผลไม้ให้เพียงพอเพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการภาวะท้องผูก การรับประทานอาหารเสริมที่เป็นโปรตีนที่มีกิ่ง (Branch Chains Amino Acid) อาจทำให้ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามอาหารเสริมดังกล่าวยังมีราคาแพง และทดแทนได้ด้วยการรับประทานโปรตีนจากพืช ปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่า อาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจะมีประโยชน์โดยแท้จริงกับผู้ป่วยโรคตับนอกจากการรับประทานอาหารที่ถูกต้องร่วมกับพืช ผัก และผลไม้ที่สะอาดในปริมาณที่พอเพียงจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย การรับประทานอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยวไม่มีผลเสียโดยตรงอย่างไรต่อตับ
2. แอลกอฮอล์
ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจจะพบรับประทานได้บ้าง แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดบีแบบเรื้อรัง มีหลักฐานชัดเจนพบว่าการรับประทานแอลกอฮอล์ มีส่วนสัมพันธ์โดยตรง ทำให้การดำเนินของโรคลุกลามเร็วขึ้น ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่จะไม่มีผลโดยตรงกับโรคตับ แต่การสูบบุหรี่มีผลเสียต่อร่างกาย รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดมะเร็งในหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย นอกจากปอด ดังนั้น เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงควรจะงด และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วย
3. อัลฟาท๊อกซิน (Aflatoxin)
สารอัลฟาท๊อกซินเป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา Aspergillus ซึ่งเป็นเชื้อราตระกูลเดียวกัลที่พบตามขนมปังที่เก็บไว้นาน ๆ นั่นเอง เชื้อรา Aspergillus บางตระกูลสามารถสร้างสารพิษที่เรียกว่า อัลฟาท๊อกซินขึ้น ซึ่งสารพิษนี้สามารถชักนำให้เกิดมะเร็งตับได้ เชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในอาหารบางอย่าง ซึ่งเก็บอย่างไม่ถูกวิธี และมีความชื้น เช่น ถั่ว พรกป่น ข้าวโพด ข้าวสารเป็นต้น การศึกษาจากประเทศจีนตอนใต้พบว่า อุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบแบบบีเรื้อรัง ในหมู่บ้านที่มีสารอัลฟาท๊อกซินปนเปื้อนในอาหารสูงกว่ากลุ่มประชากรที่เป็นตับอักเสบบีแบบเรื้องรัง ที่บริโภคอาหารที่ไม่ได้ปนเปื้อนด้วยสารอัลฟาท๊อกซินอย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคตับจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารดังที่กล่าวมาแล้ว
4. อารมณ์ และการพักผ่อน
บ่อยครั้งทีเดียวทีแพทย์พบผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง หรือเป็นโรคตับแข็งที่มีอาการทั่วไปสบายดีมาตลอด แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือตรากตรำงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงมีส่วนชักนำให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน หรือบางครั้งรุนแรงจนเกิดภาวะตับวายเกิดขึ้นได้ นอกจากการพักผ่อนที่เพียงพอแล้ว การมีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใสก็มีความสำคัญทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย
5. ออกกำลัง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง และมีอาการที่บ่งว่ามีสภาพการทำงานของตับเหลืออยู่น้อย เช่น ดีซ่าน ท้องมาน ผู้ป่วยเหล่านี้ควรงดออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการเดิน หรือนั่งนาน ๆ ผู้ป่วยที่มีประวัติเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ไม่ควรออกกำลังที่จะต้องเบ่ง หรือเกร็งกล้ามเนื้อท้อง เข่น การยกน้ำหนัก เนื่องจากจะกระตุ้นให้ความดันเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตกได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นตับแข็งในระยะเริ่มต้นที่ไม่มีอาการผิดปกติสามารถออกกำลังได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม เช่น การวิ่งมาราธอน หรือกีฬาที่ต้องแข่งขัน การออกกำลัง เข่น การเดิน วิ่งเบา ๆ ดูจะเป็นการออกกำลังที่เหมาะสม
6. อัลฟาฟีโตโปรตีน
(Alpha feto-protein) เป็นสารซึ่งสร้างขึ้นโดยเซลล์ตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ตับ เราพบสาร Alpa feto-protein สูงขึ้นในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยซึ่งเป็นมะเร็งตับอาจมีการเพิ่มขึ้นของ Alpha feto-protein ซึ่งใช้เป็นเครื่องแจ้งเตือนมะเร็งของตับได้ ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ตลอดจนผู้ที่เป็นตับแข็ง ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถือว่าเป็นประชากรที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งของตับได้ทั้งสิ้น การตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น สามารถให้การรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสหายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตับควรมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแพย์นัด และตรวจ Alpha feto-protien ตามที่แพทย์เห็นสมควร
การรับประทานยาในผู้ป่วยโรคตับเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง
เนื่องจากยาหลายชนิดต้องถูกกำจัด โดยผ่านตับการที่ตับมีการทำงานบกพร่อง เนื่องจากโรคต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง อาจทำให้มีการสะสมของยาจนเกิดโทษได้ ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่าท่านมีปัญหาโรคตับ เพื่อแพทย์จะได้เลือก ยาที่ปลอดภัยให้ หรือถ้าสงสัยอาจปรึกษาแพทย์ เฉพาะทางดูก่อน ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งไม่ควรรับประทานยาลดไข้พวก paracetamol เกินกว่าวันละ 1500 mg หรือทานติดต่อกันนานเกิน 3 วัน อย่างไรก็ตามในผู้ที่เป็นตับอักเสบเล็กน้อย หรือพาหะของตับอักเสบบี สามารถทาน paracetamol ได้ในขนาดปกติ สำหรับยาแก้ปวดนั้นผู้ที่เป็นตับแข็งควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวด พวกที่เป็นแอสไพรินทั้งหลาย เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงใตลดลงจนอาจทำให้มีการเสื่อมหน้าที่ของไต หรือไตวายได้ ควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่นแทน
ถึงแม้ว่าจะมีพืช อาหาร และสมุนไพรหลายอย่างที่อ้างว่ามีสรรพคุณป้องกันการเกิด และรักษาโรคตับได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเพียงพอที่จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทาน นอกจากนั้นสมุนไพรบางตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้ เช่น บอระเพ็ด ใบขี้เหล็ก จึงควรระมัดระวัง
ที่มา :http://school.net.th/library/snet4/june22/vi_liver.htm,http://www.lampangcancer.com/lpccWebnew/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น